ผิดไหม ถ้าจะเป็นภรรยาคนที่ 2 เพื่ออิสลาม


15,029 ผู้ชม

เรื่องมีอยู่ว่าดิฉันได้ตัดสินใจถามแฟนว่าเรื่องระหว่างเรานั้นจะลง เอยอย่างไร เคยคิดไหม เขาตอบกลับมาว่าเขายังไม่รู้ให้เป็นไปตามประสงค์ของพระเจ้าที่กำหนดมา แต่ดิฉันคือคนที่เขาขอพรจากพระเจ้าให้ได้เจอผู้หญิงแบบนี้


ผิดไหม ถ้าจะเป็นภรรยาคนที่ 2 เพื่ออิสลาม

พอดีดิฉันมีเรื่องจะขอปรึกษาอาจารย์อย่างเร่งด่วน เพื่อทำความเข้าใจกับแฟน

เรื่องมีอยู่ว่าดิฉันได้ตัดสินใจถามแฟนว่าเรื่องระหว่างเรานั้นจะลง เอยอย่างไร เคยคิดไหม เขาตอบกลับมาว่าเขายังไม่รู้ให้เป็นไปตามประสงค์ของพระเจ้าที่กำหนดมา แต่ดิฉันคือคนที่เขาขอพรจากพระเจ้าให้ได้เจอผู้หญิงแบบนี้ แต่ไม่ได้ขอตอนจบซึ่งถ้าจะขอก็ให้จบลงด้วยดี ซึ่งดิฉันก็ไม่รู้ว่าจะลงเอยอย่างไรจะต้องเลิกกันหรือว่าอยู่ด้วยกันสามคน

แต่ดิฉันก็บอกไปว่า ในเมื่อดิฉันได้มาเจอกับเขาแล้วก็แปลว่าพระเจ้าต้องการ ให้ดิฉันอยู่กับเขาและเข้ารับอิสลาม ถ้าไม่อย่างนั้นพระองค์คงไม่กำหนดให้ดิฉันต้องคบกับเขามานานมากขนาดนี้ แต่เขาก็พูดว่าเขายังไม่พร้อมที่จะดูแลได้ทั้งสองคน

ซึ่งฉันก็เคยบอกเขาไปแล้วว่า เป้าหมายหลักของดิฉันคือการได้เข้ารับอิสลาม เพียงแต่ให้เขาช่วยโดยการนิกะห์เพื่อเป็นเครื่องรองรับดิฉันและต้องการทำให้ พี่ชายสบายใจด้วยเท่านั้น       ส่วนเป้าหมายรองดิฉันอยากให้เขาพ้นบาปที่มันค่อย ๆ ก่อขึ้นจากเราสองคน และดิฉันก็ไม่ได้ต้องการจะอยู่กับเขาเพียงโลกนี้แต่สิ่งที่ดิฉันต้องการคือ โลกหน้าความเป็นนิรันดรเท่านั้น ดิฉันไม่ต้องการให้เขามารับผิดชอบอะไรมากมายนัก

ดิฉันขอยกสิทธิ์ทุกอย่างที่ควรได้ตามหลักศาสนาอิสลามให้แก่ภรรยาและลูก ๆ เขาทั้งหมด เพียงให้เขาเป้นที่ปรึกษาด้านศาสนาให้เท่านั้น ดิฉันบอกเขาเสมอว่าสิ่งที่อยากได้ไม่ใช่โลกดุนยานี้แต่ขอเป็นโลกหน้าหรือโลก อาคิเราะห์

ทุกวันนี้ดิฉันไม่ได้ยึดติดอยู่กับโลกนี้แล้ว เพียงต้องการทำตามท่านนบีและอัลกุรอานเท่านั้น แต่ดิฉันก็มีภาระที่หนักอึ้งซึ่งเป็นคำสัญญาที่ให้ไว้กับพ่อแม่ และเมื่อสัญญานั้นสำเร็จเมื่อไร ดิฉันก็หมดพันธะกับศาสนาเดิมแล้ว ดิฉันก็พร้อมเข้ารับอิสลามอย่างเต็มตัวทุกวันนี้ดิฉันก็ขอพรจากพระเจ้าให้ ความตั้งใจของดิฉันเป็นจริงเร็ว ๆ และให้ภาระของฉันหมดลงไว ๆ

ซึ่งดิฉันก็บอกกับเขาแบบนี้ แต่เขาก็ยังกลัวบาปที่ไม่สามารถดูแลฉันได้ ฉันก็ย้อนถามเขากลับไปว่า เขาเองไม่ใช่หรือที่บอกว่ากฏทุกกฏมีข้อยกเว้นหากมีความจำเป็น และสิ่งที่ตกลงกันดิฉันเป็นฝ่ายเสนอเองทุกอย่างเพื่อความสบายใจของทั้งคู่ เขาก็ยังกลัวอีก

ดิฉันไม่ทราบว่า มันบาปหนักมากขนาดไหน ระหว่างมีภรรยาสองคนแต่เลี้ยงดูได้ไม่ เท่ากันซึ่งเป็นความต้องการของภรรยาอีกคนหนึ่งกับ การเข้าใกล้การทำซินา อาจารย์ค่ะช่วยให้คำตอบที่กระจ่างแก่ดิฉันด้วย ซึ่งเขาเองก็บอกว่ารักดิฉันและก็ขาดดิฉันไม่ได้ ซึ่งดิฉันก็เสนอหนทางแก้ไขที่ดีที่สุดให้แล้ว ดังนั้นดิฉันขอถามอาจารย์เป็นข้อ ๆ

1. สิ่งที่ดิฉันคิดและพูดกับแฟนทั้งหมดนั้นดิฉันบาปไหมถ้าเมื่อเข้ารับอิสลาม

2. แฟนดิฉันจะบาปไหมถ้าเขาทำตามที่ดิฉันบอกและแนะนำไป

3. เรื่องของดิฉันกับแฟนนี้มันเคยมีเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อิสลามไหมคะ

4 . อาจารย์ช่วยแนะนำหนทางให้ดิฉันด้วยนะคะ

ตอบโดย:  อ.มุรีด ทิมะเสน

1. การที่ผู้ถามได้เขียนมาเล่าให้ฟังนั้น ถือว่าถูกต้องแล้วล่ะครับ แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง กล่าวคือ การแต่งงานนั้นเป็นเรื่องที่ต้องมีพันธะสัญญาระหว่างชายหนึ่งหญิงหนึ่ง ฉะนั้นการแต่งงานจึงเป็นการรับผิดชอบของสามีโดยตรง ดังนั้นหากเราเข้าใจว่า การแต่งงานเพื่อรองรับผู้ถามถึงการเป็นมุสลิมนั่นคงไม่ใช่ เพราะหากเรารับอิสลามโดยยังไม่แต่งงานก็ได้ครับ ส่วนการแต่งงานเพื่อให้พี่ชายเกิดความสบายใจ ก็ยังไม่ตรงใช่เป้าหมายของการแต่งงาน จริงอยู่แม้ว่าเราเป็นมุสลิมแต่ยังไม่แต่งงาน พี่ชายของเราก็ต้องดูแลเรา และเอาใจใส่เราได้เหมือนเดิม แต่ผมก็เข้าใจว่า ถ้าเราแต่งงานพี่ชายของเราก็จะหมดห่วง ทว่า ผมอยากให้เรื่องการเข้ารับอิสลามเป็นเรื่องอันดับหนึ่งที่เราต้องเข้าใจและ ครอบครัวของเราเข้าใจก่อนอย่างอื่นนั่นเองครับ (หากผมเข้าใจผิดไปจากเจตนารมณ์ของผู้ถาม ต้องขออภัยด้วยนะครับ)

2. คำตอบ กรณีที่เรายื่นข้อเสนอให้แก่เค้า (สามีในอนาคต) ซึ่งจะเป็นข้อเสนอที่ไม่ขัดกับหลักการของศาสนาเลยล่ะครับ อย่างเช่น เรื่องการจ่ายค่าเลี้ยงดู ซึ่งเราพอใจจะไม่รับจากเค้าก็ย่อมทำได้ เพราะเราพอใจแบบนั้น หรือแม้กระทั่งการกำหนดวันที่มาอยู่กับเรา เราก็ไม่ต้องระบุวันยังได้เลยครับ ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างเรากับเค้า ฉะนั้นสิ่งที่ผู้ถามแนะนำให้เค้า หากเค้าปฏิบัติตามนั้นถือว่าไม่ผิดหลักการอิสลามนั่นเองครับ

3. คำตอบ เท่าที่ทราบ ผมยังไม่พบเหตุการณ์ของผู้ถามในประวัติศาสตร์เลยล่ะครับ แต่ในประวัติศาสตร์ของบรรดาเศาะหาบะฮฺ (มิตรสหายของท่านนบี) ก็มีภรรยากันหลายคน (แต่ไม่เกินสี่) เหมือนกัน ฉะนั้นประเด็นการมีภรรยาหลายคนจึงไม่ใช่ประเด็นของผู้ถาม แต่ประเด็นของผู้ถามอยู่ที่ตัวของสามีในอนาคต โดยเค้ากลัวว่าจะเลี้ยงดูเราไม่ดี หรือกลัวว่าหากบกพร่องในเรื่องความยุติธรรม เค้าก็จะมีความผิดในวันกิยามะฮฺ ซึ่งประเด็นนี้ผมก็ชี้แจงแล้วว่า หากเราพึงพอใจไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเลี้ยงดู เรื่องวันที่จะมาอยู่กับเราก็ไม่ต้องกำหนด ว่างเมื่อไหร่มาได้เมื่อนั้น เพียงแต่เราขอให้เค้าช่วยในเรื่องของศาสนา ทำให้เราทั้งสองไม่มีความผิดหากต้องไปไหนมาไหนด้วยกัน ทำนองนี้เป็นต้น ดังนั้นกรณีนี้ ประเด็นอยู่ที่ตัวของผู้ชายแต่เพียงผู้เดียวครับ

4. คำตอบ ผมแนะนำยังงี้ว่า ผู้ถามเป็นคนที่ความศรัทธามั่น และสนใจอิสลามอย่างแท้จริง ฉะนั้นประเด็นแรก ผมขอให้ผู้ถามเข้ารับนับถืออิสลามเสียก่อน โดยหากมีอะไรสงสัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว กรุณาติดต่อทีมงานฝ่ายมุสลิมะฮฺของเราได้นั่นคือคุณอามานี ซึ่งรายละเอียดอยู่ที่หน้าเว็บไซต์นะครับ

ประการต่อมา เมื่อเราเป็นมุสลิมแล้ว ก็ให้เราปฏิบัติตัวเป็นมุสลิมะฮฺที่สมบูรณ์ตามหลักการศาสนา จากนั้นเราก็ต้องระมัดระวังเรื่องสิ่งผิดที่จะเกิดขึ้นกับเค้า ซึ่งจะเป็นสามีของเราในอนาคต เช่น การไปไหนมาไหนด้วยกันสองตัวสอง ทำนองนี้เป็นต้น แล้วให้เราคุยกับเค้าเรื่องการแต่งงานของเรา โดยก็บอกอย่างที่เราเคยบอกนั่นแหละว่า เรื่องค่าเลี้ยงดู จะให้เท่าไหร่ เมื่อไหร่ก็ได้ หรือถ้าไม่พอก็ไม่ต้องให้ก็ได้ ส่วนเรื่องวันที่มาหาเรา เราก็บอกไปเลยว่า ว่างวันไหนก็มาได้เมื่อนั้น และอื่นๆ ซึ่งเราก็ต้องให้เค้ามั่นใจว่า สิ่งดังกล่าวไม่ผิดหลักการศาสนา เพราะท่านนบีบอกไว้ว่า "มุสลิมขึ้นอยู่ที่การตกลงซึ่งกันและกัน" (บันทึกโดยมุสลิม)

ฉะนั้นหากเราเลี้ยงดูไม่เท่ากันระหว่างการมีภรรยามากกว่าสองคน นั่นหมายถึง นางต้องการสิทธิที่นางจะได้รับ แต่สามีไม่ยอมให้ หรือบ่ายเบี่ยง นั่นแหละสามีผิด แต่ถ้าภรรยาพอใจสามีโดยไม่รับค่าเลี้ยงดู สิ่งนี้สามีพ้นผิด ไม่มีบาปแก่เค้า ซึ่งถ้าสามีในอนาคตของผู้ถามเข้าใจแบบนี้ เค้าคงตัดสินใจแต่งงานกับผู้ถามไปแล้วล่ะครับ ฉะนั้นตอนนี้ก็พยายามอธิบายให้เค้าได้เข้าใจในหลักการอิสลามเกี่ยวกับ ประเด็นดังกล่าวเสียก่อน หากเค้ายังสงสัยอยู่อีกก็ให้เค้าเขียนเข้ามาถามผมได้ตลอดเวลานะครับ เป็นกำลังใจให้ต่อสู้ และขอดุอาอ์ต่อไป อย่าสิ้นหวังในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา เพราะพระองค์ทรงช่วยเหลือบ่าวของพระองค์เสมอ

อัพเดทล่าสุด