ซุนนะห์ในเดือนชะอฺบาน : islamhouses


2,534 ผู้ชม

ซุนนะห์ในเดือนชะอฺบาน มีอะไรบ้างที่มุสลิมต้องรู้..


ซุนนะห์ในเดือนชะอฺบาน

ซุนนะห์ในเดือนชะอฺบาน มีอะไรบ้างมาดูกันเลย...

1. การถือศีลอดในเดือนชะอฺบาน 

เป็นสิ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ปฏิบัติและสนับสนุน โดยมีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวไว้ว่า

"ท่านนบีมักจะถือศีลอดจนกระทั่งเรานึกว่าท่านจะไม่เว้น และท่านอาจจะงดการถือศีลอดจนกระทั่งเรานึกว่าท่านจะไม่ถือศีลอด และฉันไม่เคยเห็นท่านนบีถือศีลอดครบเดือนหนึ่งเดือนใดเว้นแต่เดือนรอมฎอน และไม่เคยเห็นท่านถือศีลอดมากมายเหมือนที่ท่านถือศีลอดในเดือนชะอฺบาน" (บันทึกโดยบุคอรียฺและมุสลิม)

และมีรายงานจากท่านอุซามะฮฺ อิบนุซัยดฺ กล่าวว่า "ฉันได้พูดกับท่านนบีว่า โอ้ร่อซูลของอัลลอฮฺ ฉันไม่เคยเห็นท่านขยันถือศีลอดในเดือนหนึ่งเดือนใดเหมือนที่ท่านถือศีลอดในเดือนชะอฺบาน (หมายถึงถือศีลอดซุนนะฮฺ)" ท่านนบี จึงตอบว่า

(( ذلِكَ شَهْرٌ تَغْفُلُ النَّاسُ فِيهِ عَنْهُ ، بَيْنَ رَجَبٍ وَرَمَضَانَ ،

وَهُوَ شَهْرٌ تُرْفَعُ فِيْهِ الأَعْمَالُ إِلَى رَبِّ الْعَالَمِيْنَ ، وَأُحِبُّ أَنْ يُرْفَعُ عَمَلِي وَأَنَا صَاِئم ))

"นั่น(เดือนชะอฺบาน)เป็นเดือนที่มนุษย์มักจะเพิกเฉยระหว่างเดือนเราะญับและเดือนรอมฎอน และเป็นเดือนที่บรรดาการกระทำจะถูกยกและถูกเสนอต่อองค์พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก และฉันชอบให้การกระทำของฉันถูกยกและถูกเสนอขณะที่ฉันถือศีลอด"

(บันทึกโดยอิมามนะซาอียฺและอิมามอบีดาวู้ด; ดู ศ่อฮีฮุตตัรฆีบวัตตัรฮีบ)

ท่านอิมามอิบนุรอยับกล่าวว่า การถือศีลอดในเดือนชะอฺบานมีความประเสริฐยิ่งกว่าการถือศีลอดในเดือนต้องห้าม(อัลอัชฮุรุลหุรุม) และการถือศีลอดซุนนะฮฺที่ดีที่สุดคือการถือศีลอดในบรรดาวันใกล้ชิด(ก่อนหรือหลัง)เดือนรอมฎอน ซึ่งมีตำแหน่งเสมือนการละหมาดซุนนะฮฺก่อนและหลังละหมาดฟัรฎู เพื่อเป็นการปรับปรุงข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติฟัรฎู นับเป็นการละหมาดซุนนะฮฺที่ประเสริฐยิ่งในบรรดาการละหมาดซุนนะฮฺทั่วไป เช่นเดียวกัน การถือศีลอดซุนนะฮฺก่อนหรือหลังเดือนรอมฎอน ก็จะเป็นการถือศีลอดซุนนะฮฺอันประเสริฐยิ่งกว่าการถือศีลอดซุนนะฮฺทั่วไป

ซุนนะห์ในเดือนชะอฺบาน

2. การอ่านอัลกุรอาน

ท่านสะละมะฮฺ อิบนุกุฮัยลฺ กล่าวว่า เขา (ชาวสะลัฟ) จะเรียกเดือนชะอฺบานว่า "เดือนแห่งนักอ่านอัลกุรอาน" ท่านอัมรฺ อิบนุก็อยสฺ เมื่อถึงเดือนชะอฺบานจะเลิกทำการค้า และจะขยันอ่านกุรอาน

ความประเสริฐของการอ่านอัลกุรอานในเดือนชะอฺบานนั้นเหมือนการถือศีลอด คือ เพื่อให้มุอฺมินได้ฝึกฝนและขัดเกลาตนเอง ให้มีความอยากและความเคยชินในการปฏิบัติ มิฉะนั้น มุอฺมิน จะเข้าสู่เดือนรอมฎอนโดยมีสนิมเกาะอยู่กับอีมานและความปรารถนา จึงต้องขยันขัดเกลา เพื่อขจัดสนิมที่เกาะในหัวใจให้หมดเกลี้ยง เป็นหัวใจที่มีความตั้งใจทำอิบาดะฮฺในเดือนรอมฎอน

ซุนนะห์ในเดือนชะอฺบาน

3. รักษาอีมานจากความโสมมแห่งชิริกและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีจากความมุ่งร้ายต่อพี่น้อง

ในบันทึกของอิมามอิบนุฮิบบาน  มีรายงานจากท่านมุอ๊าซ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ  ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ได้กล่าวว่า :

(( يطلع الله إلى جميع  خلقه ليلة النصف من شعبان فيغفر لجميع خلقه إلا لمشرك أو مشاحن ))

"อัลลอฮฺทรงมองลงมายังบรรดาผู้เป็นบ่าวของพระองค์ในค่ำคืนกลางเดือนชะอฺบาน และทรงให้อภัยโทษต่อทุกคน ยกเว้นผู้ที่ตั้งภาคีกับพระองค์(ทำชิริก) และผู้มีความโกรธกริ้วกับพี่น้องของเขา"

จากฮะดีษบทนี้ เราจึงต้องค้นหาและตรวจสอบหัวใจของเรา เพื่อขจัดการทำชิริกหรือการศรัทธาต่อผู้อื่นนอกจากอัลลอฮฺ   และขจัดความโกรธพี่น้องมุสลิมโดยไร้เหตุผลแห่งหลักการ เพื่อให้หัวใจของเรานั้นเป็นหัวใจอันบริสุทธิ์ จึงจะมีสิทธิ์ได้รับการอภัยโทษในเดือนชะอฺบาน

ส่วนการทำชิริกนั้นอาจเป็นเรื่องที่บรรดาผู้ศรัทธาประมาท และคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะมีอีมานในหัวใจอยู่แล้ว แต่แท้จริงชิริกนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวซึ่งทุกคนมีโอกาสทำชิริกได้โดยไม่รู้สึกตัว แม้กระทั่ง ท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม  ซึ่งเป็นมิตรกับอัลลอฮฺ(ค่อลีลุลลอฮฺ) ก็ยังวิงวอนดุอาอฺต่ออัลลอฮฺ ให้คุ้มครองจากการไหว้รูปเจว็ด ท่านอิบรอฮีม อัตตัยมียฺ กล่าวว่า ใครเล่าที่จะคิดว่าตนเองปลอดภัยจากชิริก แม้แต่นบีอิบรอฮีมยังกลัวชิริกเลย

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ยังเตือนประชาชาติของท่านไว้ว่า

(( أخوف ما أخوف عليكم الشرك الأصغر ، فسئل عنه ؟ فقال : الرياء ))

 "สิ่งที่ฉันเกรงมากว่าพวกท่านจะปฏิบัติคือ ชิริกเล็ก" ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม   ถูกถามว่า ชิริกเล็กนั้นคืออะไร? ท่านจึงตอบว่า "อัรริยาอฺ"

"อัรริยาอฺ" หมายถึง การโอ้อวด ปฏิบัติอิบาดะฮฺอย่างไม่สุจริตใจ ส่วนการโกรธ อิจฉาริษยา ความเกลียดชัง ที่ปรากฏในหมู่ผู้ศรัทธาอย่างมากมายนั้น สิ่งเหล่านี้จะขัดขวางความเมตตาและการอภัยโทษของอัลลอฮฺ   มิให้ปรากฏกับผู้กระทำความดี แม้ว่าเขาจะเป็นมุอฺมินก็ตาม

อิมามมุสลิมได้รายงานฮะดีษจากท่าน อบีฮุรอยเราะฮฺ   จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  กล่าวว่า:

(( تفتح أبواب الجنة يوم الإثنين والخميس ، فيغفر لكل عبد لايشرك بالله شيئا إلا رجلا كانت بينه وبين أخيه شحناء فيقول : أنظروا هذين حتى يصطلحا))   

"ประตูแห่งสวรรค์จะถูกเปิด ทุกวันจันทร์และวันพฤหัส การอภัยโทษจะประสบกับบ่าวทุกคนที่ไม่ทำชิริกทั้งสิ้น เว้นแต่บุคคลที่โกรธกับพี่น้องของเขา จึงมีคำประกาศว่า จงเลื่อนเวลาการอภัยโทษของสองคนนี้ จนกว่าเขาจะคืนดีกัน"

สำหรับค่ำคืนกลางเดือนชะอฺบานที่เรียกกันว่า นิสฟูชะอฺบาน นั้นไม่มีอิบาดะฮฺพิเศษที่ควรจะปฏิบัติโดยเฉพาะ มีเพียงอิบาดะฮฺที่เราเคยกระทำทุกคืน และไม่มีดุอาอฺเฉพาะค่ำคืนนี้ ดังที่ปรากฏกับบางกลุ่ม

การถือศีลอดในเดือนชะอฺบานนั้น ไม่มีข้อห้าม นอกจากในสองวันสุดท้ายของเดือนชะอฺบาน ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ห้ามไว้ เพื่อจำแนกระหว่างเดือนชะอฺบานกับเดือนรอมฎอน ยก เว้นผู้ที่ถือศีลอดซุนนะฮฺเป็นประจำ เช่น การถือศีลอดทุกวันจันทร์หรือพฤหัส แล้วไปตรงกับสองวันนี้ จึงจะอนุญาตให้ถือศีลอดเหมือนปกติ ซึ่งในบันทึกของอบูดาวู้ดและอันนะซาอียฺ มีรายงานจากท่านฮุซัยฟะฮฺ   จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  กล่าวว่า

(( لا تَقَدَمُواْ الشَّهْرَ بِيَوْمٍ وَلا يَوْمَيْنِ إِلا أَنْ يُوَافِقَ ذَلِكَ صَوْمَاً يَصُوْمُهُ أَحَدُكُمْ ))

"พวกท่านอย่าถือศีลอดล่วงหน้าเดือนรอมฎอน (ก่อนเข้าเดือนรอมฎอน) หนึ่งวันหรือสองวัน เว้นแต่จะตรงกับการถือศีลอดที่พวกท่านถือไว้อยู่แล้ว (คือปฏิบัติเป็นประจำ)"

จากข้อมูลข้างต้น พี่น้องผู้ศรัทธาจึงต้องตระหนักในความประเสริฐของเดือนชะอฺบาน อันเป็นพื้นฐานแห่งการปฏิบัติอิบาดะฮฺอย่างมั่นคงเพราะการขาดความรู้ในความประเสริฐ ของการทำอิบาดะฮฺ จะส่งผลให้ผู้ศรัทธาไม่กระตือรือร้นในการปฏิบัติอิบาดะฮฺ จึงต้องแสวงหาสิ่งที่จะปลุกจิตศรัทธา และความปรารถนาในการสะสมผลบุญ โดยเฉพาะในฤดูการทำอิบาดะฮฺ เช่นเดือนชะอฺบานและเดือนรอมฎอน จึงขอฝากไว้กับพี่น้องผู้อ่านให้เป็นบทเรียน ที่ควรจะนำไปเผยแผ่กับคนใกล้ชิดและพี่น้องผู้ศรัทธาทั่วไป

ขออัลลอฮฺทรงประทานเตาฟีก การช่วยเหลือ เพื่อยืนหยัดในการทำอิบาดะฮฺอย่างบริสุทธิ์ใจและสม่ำเสมอ และขอให้พี่น้องทุกท่านมีชีวิตยืนยาว ด้วยสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ อันเป็นเสบียงแห่งการทำอิบาดะฮฺอย่างเคร่งครัดเถิด

ที่มา : www.islaminthailand.org

https://islamhouse.muslimthaipost.com/article/21694

บทความที่น่าสนใจ

เรื่องที่น่าสนใจ