ละหมาดวันศุกร์ ผู้หญิง จำเป็นหรือไม่? การละหมาดวันศุกร์เป็นภารกิจจำเป็น เหนือบุคคลที่มีเงื่อนไขครบ 7 ประการดังต่อไปนี้
ละหมาดวันศุกร์ ผู้หญิง จำเป็นหรือไม่?
ละหมาดวันศุกร์ เป็นสิ่งที่วายิบบนมุสลิมทุกคนเว้นแต่ 4 ประการ ทาส ผู้หญิง เด็ก ผู้ป่วย (รายงายโดย อาบูดาวูด และ ท่านอื่นๆ)
มุฆนีย์อัลมัวะห์ตาจญ์ 1/381 ดารุลกุตุบอิลมียะห์
เงื่อนไขสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องละหมาดวันศุกร์
การละหมาดวันศุกร์เป็นภารกิจจำเป็น เหนือบุคคลที่มีเงื่อนไขครบ 7 ประการดังต่อไปนี้
1. เป็นมุสลิมผู้นับถือศาสนาอิสลาม
2. บรรลุศาสนภาวะ การละหมาดวันศุกร์สำหรับเด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ ไม่เป็นสิ่งจำเป็น
3. มีสติสัมปชัญญะโดยสมบูรณ์ การละหมาดวันศุกร์สำหรับคนบ้า วิกลจริตไม่เป็นสิ่งจำเป็น
4. เป็นเสรีชนโดยสมบูรณ์ มิใช่ทาส
5. เป็นชาย การละหมาดวันศุกร์สำหรับผู้หญิง ไม่เป็นสิ่งจำเป็น แต่ถ้าหากนางมาร่วมละหมาดวันศุกร์ที่มัสญิด ก็ถือว่าใช้ได้ และไม่จำเป็นที่นางต้องละหมาดซุฮฺริอีก แต่อย่างใด
อิมาม อัล-บันดะนัยญียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ส่งเสริมสำหรับสตรีสูงอายุ ให้มาร่วมละหมาดวันศุกร์ แต่มักรูฮฺสำหรับสตรีวัยสาว มาร่วมการละหมาดทั้งหมด พร้อมกับบรรดาผู้ชาย ยกเว้นการละหมาดอีดทั้งสอง (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 350)
6. มีสุขภาพทางกายที่สมบูรณ์ การละหมาดวันศุกร์ไม่จำเป็นสำหรับคนป่วย ซึ่งจะมีอาการเจ็บป่วย เนื่องจากการมาร่วมละหมาดวันศุกร์ที่มัสญิด หรือด้วยการที่ผู้ป่วยถูกกักไว้ จนกระทั่งละหมาดเสร็จ หรือผู้ที่อาการป่วยจะรุนแรงมากขึ้น ด้วยการมาร่วมละหมาด หรือทำให้อาการเจ็บป่วยนั้นเรื้อรัง และหายช้าออกไปอีก และบุคคลที่ทำหน้าที่ในการพยาบาลรักษาคนป่วย และปรนนิบัติคนป่วย ซึ่งไม่มีผู้ใดมาทำหน้าที่แทน ระหว่างการไปละหมาดวันศุกร์ กอปรกับผู้ป่วยมีความต้องการบุคคลผู้นั้น ในการดูแล ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นญาติสนิทของผู้ป่วย หรือไม่ก็ตาม บุคคลที่มีลักษณะดังกล่าว ถูกผนวกเข้าในกรณีของผู้ป่วยซี่งไม่จำเป็นต้องละหมาดวันศุกร์เช่นกัน (อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ เล่มที่ 1 หน้า 200-201)
7. การมีภูมิลำเนาพักอาศัย ณ สถานที่ที่มีการละหมาดวันศุกร์ การละหมาดวันศุกร์จึงไม่จำเป็นสำหรับผู้ที่เดินทาง (มุสาฟิรฺ) ที่เป็นการเดินทางซึ่งศาสนาอนุญาต ถึงแม้ว่าจะเป็นการเดินทางในระยะใกล้ก็ตาม ทั้งนี้ เมื่อปรากฏว่าผู้นั้น เริ่มการเดินทางของตนก่อนแสงอรุณจริงขึ้นของวันศุกร์ และเขาผู้นั้นก็ไม่ได้ยินเสียงอะซานจากเขตที่เขาเดินทางออกจากที่นั่น ในสถานที่ที่เขาอยู่ ณ ที่นั้น
หลักฐานที่บ่งชี้ถึงบรรดาเงื่อนไขข้างต้น คือ อัล-หะดีษที่ว่า
ความว่า: “การละหมาดวันศุกร์ คือหน้าที่จำเป็นเหนือมุสลิมทุกคน ใน (รูปแบบ) ญะมาอะฮฺ ยกเว้นบุคคล 4 จำพวก (คือ) ทาสที่ถูกครอบครอง หรือสตรี หรือเด็ก หรือคนป่วย”
(รายงานโดย อบูดาวูด หะดีษเลขที่ 1067)
และอัล-หะดีษที่ว่า :
ความว่า : “ ผู้ใดศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันสุดท้าย การละหมาดวันศุกร์ก็จำเป็นเหนือผู้นั้น ยกเว้นสตรี ผู้เดินทาง ทาส และคนป่วย” (รายงานโดย อัด-ดาเราะกุฏนียฺ 2/3)
และอัล-หะดีษที่ว่า :
ความว่า : “ การละหมาดวันศุกร์ จำเป็นเหนือบุคคลทุกคน ที่ได้ยินการประกาศเรียกร้อง (การอะซาน) “ (รายงานโดย อบูดาวูด หะดีษเลขที่ 1056)
อนึ่ง ในกรณีของผู้ที่เดินทางนั้น ถึงแม้ว่าการละหมาดวันศุกร์จะไม่จำเป็น แต่ก็ส่งเสริมให้ผู้เดินทางทำการละหมาดวันศุกร์ เพื่อเป็นการออกจากข้อขัดแย้งของนักวิชาการ และในกรณีที่ผู้เดินทางมีเจตนาลงพัก ณ สถานที่นั้น เป็นเวลา 4 วัน โดยไม่นับวันเข้าและวันออก จากสถานที่ลงพักนั้น การละหมาดวันศุกร์ก็จำเป็นสำหรับเขา โดยไม่มีข้อขัดแย้ง
แต่ถ้าหากผู้เดินทางมีเจตนาลงพักน้อยกว่า 4 วัน ก็ไม่จำเป็นที่เขาจะต้องละหมาดวันศุกร์ แต่อย่างใด ทั้งนี้ การเดินทางนั้นต้องมิใช่การเดินทางที่เป็นการฝ่าฝืนต่อบัญญัติของศาสนา (สะฟัรฺ อัล-มะอฺศิยะฮฺ) ส่วนในกรณีที่การเดินทางนั้น เป็นการฝ่าฝืนบัญญัติของศาสนา การละหมาดวันศุกร์ก็ไม่ตกไป (คือเป็นสิ่งจำเป็น) โดยไม่มีข้อขัดแย้ง (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4/357)
ในกรณีของคนป่วยที่ไม่จำเป็นต้องละหมาดวันศุกร์นั้น ไม่ว่าการละหมาดวันศุกร์ของชาวชุมชนจะผ่านพ้นไป (คือไม่มีการละหมาดวันศุกร์) เนื่องด้วยเหตุของผู้ป่วยไม่มาร่วมละหมาด เป็นผลทำให้จำนวนของอะฮฺลุลญุมอะฮฺ ไม่ครบจำนวนหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าผู้ป่วยทนความลำบากได้ และมาร่วมละหมาด ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในกรณีนี้ และบุคคลที่มีอาการท้องเดิน (ถ่ายท้อง) มาก ให้ถือว่าเป็นกรณีเดียวกับผู้ป่วย
อัล-มุตะวัลลียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า :หากปรากฏว่าผู้ที่มีอาการท้องเดิน ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ก็เป็นที่ต้องห้ามในการมาร่วมละหมาดญะมาอะฮฺ เพราะมิอาจวางใจได้ว่าผู้นั้น จะทำให้มัสญิดเกิดความสกปรกเลอะเทอะ (เนื่องจากอุจจาระราด) ส่วนคนตาบอดนั้น หากมีคนนำทาง จะโดยอาสา หรือโดยค่าจ้าง (ซึ่งคนตาบอดมีค่าจ้างที่จะจ่าย) ก็ถือว่าการละหมาดวันศุกร์เป็นสิ่งจำเป็น หากไม่เป็นเช่นนั้น ก็ไม่จำเป็น
อัล-กอฎียฺ หุสัยนฺและ อัล-มุตะวัลลียฺ กล่าวว่า หากคนตาบอดเดินได้เป็นอย่างดีด้วยไม้เท้า โดยไม่มีผู้นำทาง ก็ถือว่าการละหมาดวันศุกร์จำเป็นสำหรับเขา และส่วนหนึ่งจากนักวิชาการที่กล่าวว่า การละหมาดวันศุกร์จำเป็นสำหรับคนตาบอด ที่มีผู้นำทางคือ อิมามมาลิก , อะหฺมัด , อบูยูสุฟ , มุฮัมมัด และดาวูด เราะฮิมะฮุมุลลอฮฺ ส่วนอิมามอบูหะนีฟะฮฺ(ร.ฮ.) กล่าวว่า ไม่จำเป็น (อ้างแล้ว 4/352)
ที่มา: www.alisuasaming.com
http://islamhouse.muslimthaipost.com/
- ทำไมต้องอ่านยาซีนในคืนวันศุกร์
- เนียตอาบน้ำวันศุกร์ว่าอย่างไร?
- วันศุกร์ ช่วงเวลาที่ดุอาอ์จะถูกตอบรับ
- นั่งฟังคุตบะห์วันศุกร์ สามารถเล่นไลน์ได้หรือไม่?
- ละหมาดวันศุกร์ ไม่ถึง40คน ใช้ได้หรือไม่?
- ความประเสริฐของการอาบน้ำในวันศุกร์
- ขาดละหมาดวันศุกร์ 3 ครั้ง ต้องเตาบะฮฺตัวอย่างไร?
- คุตบะห์ สุดท้ายของท่านนบี ณ อารอฟะห์
- อ่านซูเราะห์กะห์ฟี วันศุกร์ คุณค่าของซูเราะกะฟี อย่าลืมอ่านกัน!!
- การละหมาดลวกๆ ไม่มีสมาธิ มักทำให้การงานบนดุนยาผิดพลาด