ประโยชน์ของการถือศีลอด ทางการแพทย์ การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน


1,998 ผู้ชม

การถือศีลอดในทัศนะทางการแพทย์ การถือศีลอด มิใช่ ความอดอยาก เพราะการถือศีลอดมีจุดมุ่งหมายและหลักปฏิบัติอย่างชัดเจน..


การถือศีลอดในทัศนะทางการแพทย์ ประโยชน์ของการถือศีลอด ทางการแพทย์ การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

บทความโดย: นายแพทย์มุหัมมัดดาวูด อับดุลลอฮฺ 

อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในซูเราะห์ อัลบะเกาะเราะห์ อายะห์ที่ 183 ว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ

ความว่า:  "บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง"

การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เเป็นอิบาดะฮฺเฉพาะอย่างหนึ่ง ได้ถูกบัญญัติลงมาใน เดือนชะอฺบานปีที่ 2 แห่งฮิจญ์เราะฮฺศักราช เป็นอิบาดะฮฺที่เน้นการงานทางด้านจิตวิญญาณเป็นสําคัญ คือให้คนรู้จักความอดทน อดกลั้นหรือละเว้นจากการกิน การดื่ม การร่วมรสระหว่างสามีภรรยา รวมถึงการกระทําในสิ่งที่ไร้สาระหรือขัดต่อคุณธรรม เริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณจนถึงตะวันลับขอบฟ้า ด้วยเจตนา (เนียต) เพื่อพระองค์อัลลอฮฺเท่านั้น

การถือศีลอด มิใช่ ความอดอยาก เพราะการถือศีลอดมีจุดมุ่งหมายและหลักปฏิบัติอย่างชัดเจน มุอ์มินผู้ศรัทธาเชื่อว่าจะต้องมีหิกมะฮฺ (เคล็ดลับ) อย่างแน่นอน เช่น สํานักการแพทย์ธรรมชาติบําบัดที่เน้นการบําบัดรักษาโรคด้วยวิธีการอดอาหารเป็นหลัก ในโอกาสนี้จะขออธิบายถึงหลักการบางอย่างที่เกี่ยวกับการถือศีลอดว่า มีความสอดคล้องหรือขัดต่อหลักวิชาการแพทย์อย่างไรหรือไม่ เป็นพอสังเขป ดังนี้

1. ระยะเวลาการถือศีลอด

การถือศีลอดรอมฎอนหรือถือศีลอดสุนัตก็ดี จะใช้ระยะเวลาในการละเว้นจากสิ่งต้องห้ามโดยเฉลี่ยประมาณ 13 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งโดยปกติเราทุกคนมีการอดอาหารอยู่แล้วครั้ง ละ10-12 ชั่วโมง คือหลังอาหารเย็น (ค่ำ) จนถึงการกินอาหารในวันเช้าใหม่และในการตรวจวินิจฉัยโรคมาอย่าง เช่น การเจาะเลือดผู้ป่วยก็ต้องอดอาหารเป็นระยะเวลา 10-12 ชั่วโมง เช่นกัน ดังนั้นจะเห็นว่าระยะเวลาของการถือศีลอดไม่ขัดต่อหลักการตามธรรมชาติที่อัลลอฮฺกําหนด (สุนนะตุลลอฮฺ) หรือหลักทางการแพทย์แต่อย่างใด แต่จะมีความแตกต่างกันอยู่ที่ช่วงเวลากลางวันหรือกลางคืน ซึ่งการถือศีลอดยึดเอาช่วงเวลากลางวันเป็นหลัก ก็เพราะมีจุดประสงค์ที่มากกว่าการอดอาหารทั่วไปนั้นอง

ประโยชน์ของการถือศีลอด ทางการแพทย์ การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

2. การเปลี่ยนแปลงในร่างกาย

การถือศีลอดจะทําให้ร่างกายต้องขาดพลังงานจากสารอาหารและต้องสูญเสียน้ำจากการขับถ่ายออกจากร่างกาย การสูญเสียน้ำมากกว่า 2% ของน้ำหนักตัวจะทําให้รู้สึกกระหายน้ำ และเมื่อระดับในน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดและเซลล์ลดลงก็จะทําให้รู้สึกหิว ซึ่งจะเกิดอาการหลังจากการอดไปแล้วประมาน 6 - 12 ชั่วโมง ซึ่งเรียกว่าระยะหิวโหย

ระดับน้ำตาลกลูโคสและน้ำลดที่ลดลงจะกระตุ้นเซลล์ประสาท (นิวรอน) บริเวณฮัยโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งจะทําหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมความหิว ศูนย์อิ่มและศูนย์กระหายน้ำ สําหรับคนที่มีร่างกายปกติมีเจตนาอย่างแน่วแน่และมีความเชื่อมั่นต่อบทบัญญัติของอัลลอฮฺแน่นอนจะไม่ทําให้เขาถึงขั้นมีอาการหน้ามืดหรือหมดสติไป เพราะระบบต่างๆในร่างกายจะช่วยประสานงานกันโดยอัตโนมัติเพื่อที่จะรักษาสมดุลให้เกิดขึ้นในร่างกาย

ในระยะแรกร่างกายจะเริ่มมีการสลายพลังงานในรูปของไกลโคเจนที่เก็บสะสมไว้ในตับ และกล้ามเนื้อ โดยมีฮอร์โมนกลูกากอนจากตับอ่อนมาช่วยในปฏิกิริยาเคมีนี้จะได้น้ำตาลกลูโคสเพื่อนําไปใช้เป็นพลังงานต่อไป ส่วนต่อมหมวกไต (Adrenal Gland) ในส่วนใน (Medulla) ก็จะถูกกระตุ้นให้หลั่งเอพิเนฟริน (Epinephrine) เพิ่มมากขึ้น และมีผลทําให้เซลล์อื่นๆ ใช้พลังงานลดน้อยลงด้วย

ถ้าพลังงานที่ได้รับจากการสลายไกลโคเจนไม่เพียงพอ ก็จะสลายพลังงานสํารองในรูปของไขมัน ซึ่งกรดไขมันอิสระออกมาสู่กระแสเลือดและจะถูกเปลี่ยนไปเป็นกลูโคสเพื่อนําไปใช้เป็นพลังงานต่อไป ส่วนการรักษาดุลน้ำและเกลือแร่ก็เป็นหน้าที่ของ Hypothalamus เช่น กันที่จะกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองได้หลั่งฮอรโมน Vasopressin หรือ ADH จะมีผลทําให้ไตมีการดูดซึมน้ำกลับมาใช้เพิ่มมากขึ้นจึงทําให้ปัสสาวะน้อยลงและมีสีเข้มมากกว่า

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าอัลลอฮฺทรงรอบรู้ยิ่งเกี่ยวกับการทํางานของระบบต่างๆในร่างกายของมนุษย์และพระองค์ก็ได้กําชับให้เราศึกษาเกี่ยวกับตัวของเราเอง ดังคําตรัสของอัลลอฮฺ

وَفِي أَنفُسِكُمْ أَفَلَا تُبْصِرُونَ

ความว่า : “และในตัวของพวกเจ้า พวกเจ้าไม่เห็นอะไรดอกหรือ?” (ซูเราะห์อัซ-ซารียาต อายะห์ที่ 21)

ประโยชน์ของการถือศีลอด ทางการแพทย์ การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

3. การละศีลอด

ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้แนะนําวิธีการละศีลอดไว้อย่างไร?

เมื่อเวลาละศีลอด อิสลามให้เรารีบละศีลอดก่อนที่จะดํารงการละหมาดและแนะนําให้ละศีลอดด้วยลูกอินทผลัมหรือด้วยน้ำ มีรายงานจากท่านอะนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวว่า

ปรากฏว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ละศีลอดด้วยอินทผลัม ที่สุกงอมก่อนที่จะไปละหมาด ถ้าไม่มีอินทผลัมที่สุกงอมก็จะแก้ด้วยอินทผลัมที่แห้ง ถ้าหากไม่มีอินทผลัมที่แห้งก็จะจิบน้ำหลายจิบ” (บันทึกโดย อะหมัด, อบู ดาวูด, อิบนุ คุซัย มะฮฺ และอัต-ติรมิซีย์)

ในลูกอินทผลัมมีอะไรหรือ ? จากการวิจัยทางด้านโภชนาการทําให้เราทราบว่า ในลูกอินทผลัมที่สุกงอมนั้นประกอบด้วย น้ำตาลฟรุกโตส น้ำวิตามิน และแร่ธาตุ โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตสจัดเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกายชนิดหนึ่ง มีการดูดซึมบริเวณลําไส้เล็ก โดยวิธี Facilitate diffusion ซึ่งไม่ต้องใช้พลังงาน ส่วนน้ำตาลกลูโคสและกาแลกโตสนั้น จะดูดซึมแบบ Secondary Active ซึ่งต้องอาศัยทั้งตัวพาและพลังงาน

ดังนั้นในสภาวะที่ร่างกายกำลังอ่อนเพลียจากการขาดพลังงานและน้ำ ลูกอินทผลัมน่าจะเป็นผลไม้ที่ดีชนิดหนึ่งสําหรับผู้ที่ถือศีลอด ส่วนผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่มีรสหวานก็สามารถทานได้(แต่ไม่ใช่ซุนนะฮฺ)

ในทางตรงกันข้ามถ้าละศีลอดด้วยน้ำเย็นหรืออาหารหนักและอิ่มมากจนเกินไปก่อนจะไปละหมาดแทนที่เราจะได้พลังงานกลับคืนมาอย่างเร็ว เรากลับต้องเสียพลังงานไปเนื่องจากเลือดจะถูกส่งไปยังกระเพาะอาหารและลำไส้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง (สมองต้องการน้ำตาลกลูโคสประมาณ 40% จากทั้งหมด) จึงทําให้มีอาการมึนงง เวียนศรีษะ อ่อนเพลีย แน่นหน้าอกและง่วงซึมได้ ดังนั้นในขณะที่แก้ศีลอดท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวคำดุอาอฺว่า

ذَهَبَ الظَّمَأُ، وَابْتَلَّتِ الْعُرُوقُ، وَثَبَتَ الأَجْرُ، إِنْ شَاءَ اللهُ

ความว่า : “ความกระหายน้ำได้สูญหายแล้ว เส้นโลหิตได้ชุ่มชื่นและจะได้รับการตอบแทนอย่างแน่นอน อินชาอัลลอฮฺ” (อบู ดาวูด, อัล-บัยฮะกีย์ และอัล-หากิม)

4. จุดประสงค์ของการถือศีลอด

มนุษย์อาจจะมีฐานะที่สูงส่งหรือต่ำต้อยกว่าสัตว์เดรัจฉานก็ได้ ขึ้นอยู่กับความศรัทธา และอิบาดะฮฺของเขาต่ออัลลอฮฺประกอบกับความสามารถในการใช้สติปัญญาและจิตสํานึกเพื่อเอาชนะอารมณ์ใฝ่ต่ำหรือกิเลสได้ จะต้องผ่านการฝึกอบรมเป็นการพิเศษอย่างต่อเนื่องกับปัจจัยที่มีความสำคัญสำหรับชีวิตโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน เช่นการถือศีลอดรอมฎอน

ทําไมเราจะต้องอดน้ำ อดอาหารทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นสิ่งจําเป็นต่อการดํารงชีวิต โดยปกติแล้ว เป็นสิ่งที่ได้อนุมัติ (หะลาล) สําหรับมนุษย์ รวมถึงการหลับนอนร่วมรสระหว่างสามีภรรยาในเวลากลางวันต้องกลับมาเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในเดือนรอมฎอน

คําตอบก็คือ เพื่อพิสูจน์ความเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง เพื่อแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกหิวโหย หรืออารมณ์ใฝ่ต่ำเขาสามารถควบคุมได้ ซึ่งต่างกับสัตว์เดรฉานที่พร้อมจะสนองตอบอารมณ์ อยากใคร่ของมันได้ทุกเมื่อ ดังนั้นเมื่อเดือนรอมฎอนสิ้นสุดแล้วจะมีการเฉลิมฉลองความสำเร็จที่เรียกว่า อีดุลฟิฏร์ คือเฉลิมฉลองการมีใจที่บริสุทธิ์ เข้มแข็ง หลุดพ้นจากการครอกงำของของฮาวานัฟสหรือชัยฏอนนั่นเอง

ดังนั้นการดํารงชีวิตของมุอฺมินทุกคนหลังจากรอมฎอนแล้ว จะเปรียบเสมือนชีวิตของคนที่ในสภาวะการถือศีลอดตลอดไป เขาจะต้องอดกลั้น ละเว้นจากการกระทําในสิ่งที่เป็นหะรอม (ทุจริต คอรัปชั่น คดโกง รับสินบน รับส่วย กินดอกเบี้ย เป็นต้น) และต้องห่างไกลจากการกระทำชินาได้อย่างง่ายดายด้วยความภาคภูมิใจ เพราะเขาได้บรรลุถึงขั้น อัล-มุตตะกิน (ผู้ยําเกรง ผู้สํารวม) นั่นเอง ซึ่งอัลลออฮฺได้ให้คํามั่นสัญญาว่า

إِنَّمَا يَتَقَبَّلُ اللَّهُ مِنَ الْمُتَّقِينَ

ความว่า : “แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงรับงานของผู้ตักวาเท่านั้น” (ซูเราะห์อัล-มาอิดะฮฺ อายะห์ที่ 27)

ประโยชน์ของการถือศีลอด ทางการแพทย์ การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

จากคําอธิบายโดยย่อๆ ข้างต้น พอจะสรุปได้ว่าแท้จริงการถือศีลอดนั้น ไม่ขัดต่อหลักการแพทย์แต่อย่างใด เพราะคุณสมบัติบางประการของผู้ที่ถือศีลอดนั้นต้องเป็นมุอ์มินที่มีสุขภาพดี และมิใช่ผู้ที่มีอุปสรรคบางอย่าง (ดูรายละเอียดในวิชาฟิกฮฺ) ส่วนบุคคลที่มีอุปสรรคจริงๆ จะได้รับการผ่อนผันหรือยกเว้นจากการถือศีลอดโดยบุคคลกลุ่มหนึ่งจะต้องถือศีลอดใช้และกลุ่มหนึ่งต้องจ่ายฟิดยะฮฺแทน นั่นก็เป็นเพราะความเมตตาและรอบรู้ของอัลลลอฮฺเกี่ยวกับปฏิกิริยาเคมี กลไกการทํางานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายมนุษย์นั้นเอง

แน่นอนมิใช่ความประสงค์ของอัลลลอฮฺหากว่าอิบาดะฮฺนั้นจะนําไปสู่ความสูญเสีย (ทําให้เกิดโรค) แก่บ่าวของพระองค์ มีนักวิชาการอเมริกาคนหนึ่งชื่อนายแพทย์ Allan Cott ได้ เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “ Why Fast?” (ทําไม่ต้องถือศีลอด) ซึ่งเป็นผลจากการวิจัยของ เขาจากหลายๆ ประเทศ เขาได้สรุปถึงเคล็ดลับของการถือศีลอดไว้ 10 ข้อ ดังนี้

1. to feel better physically and mentally

ทําให้รู้สึกว่ามีสุขภาพและจิตใจที่ดีขึ้น

2. to look and feel younger

ทําให้มองเห็นและรู้สึกอ่อนเยาว์ขึ้น

3. to clean out the body

ทําให้ร่างกายสะอาดสะอ้าน

4. to lower blood pressure and cholesterol levels

ช่วยลดความดันโลหิตสูง และระดับคอเลสเตอรอลในเลือด

5. to get more out of sex

ช่วยลดความรู้สึกอารมณ์ใคร่ (เซ็กส์)

6. to let the body health itself

ช่วยให้ร่างกายบําบัดตนเอง

7. to relieve the tension

ช่วยลดความตรึงเครียด

8. to sharp the sense

ช่วยให้สติปัญญาเฉียบแหลม

9. to again control of ourselves

ทําให้สามารถควบคุมตนเองได้

10. to slow the aging process

ช่วยชะลอความชรา

นอกจากหิกมะฮฺดังกล่าวแล้ว ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ยังกล่าวไว้มีใจความ 

“แด่ผู้ถือศีลอดนั้น เขาจะได้รับความสุข 2 ประการคือ ความสุขเมื่อถึงยามละศีลอด และจะมีความสุขเมื่อได้พบกับผู้อภิบาลของเขา (ในวันกียามัต)”

พร้อมกับ รางวัลที่สูงสุดคือสวนสวรรค์ ซึ่งเขาจะเดินเข้าทางประตู อัร-รอยยาน ที่ได้สร้างเฉพาะแก่บรรดาผู้ที่ถือศีลอดด้วยความสุจริตใจต่ออัลลอฮฺเท่านั้น ...

https://islamhouse.muslimthaipost.com/article/23688

อัพเดทล่าสุด