เรื่องของหัวใจในอิสลาม ฮาดิษเกี่ยวกับหัวใจ ซูเราะห์เยียวยาจิตใจ
เรื่องของหัวใจในอิสลาม ฮาดิษเกี่ยวกับหัวใจ
หัวใจ เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่เล็กของร่างกายมนุษย์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก หากก้อนเนื้อนี้ดี ส่วนทั้งหมดดีตามไปด้วยๆ หากว่ามันเสียส่วนทั้งหมดของร่างกายเสียตามไปด้วยดังหะดีษที่ อัน-นุอฺมาน บิน บะชีร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ท่านร่อซูล ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า
أَلَا وَإِنَّ فِي الْجَسَدِ مُضْغَةً إِذَا صَلَحَتْ صَلَحَ الْجَسَدُ كُلُّهُ وَإِذَا فَسَدَتْ فَسَدَ الْجَسَدُ كُلُّهُ ؛ أَلَا وَهِيَ الْقَلْبُ
“พึงทราบเถิดว่าในร่างกายเรานั้นมีก้อนเนื้ออยู่ก้อนหนึ่ง ถ้าส่วนดังกล่าว ดี ร่างกายทุกส่วนก็จะดีตามไปด้วย แต่ถ้าส่วนดังกล่าว ไม่ดี ร่างกายส่วนอื่นๆก็จะไม่ดี ก้อนเนื้อที่ว่านั้นก็คือ หัวใจ ”
(ฮาดิษเกี่ยวกับหัวใจ บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์: และ มุสลิม)
ในเรือนร่างของมนุษย์นั้น อวัยวะที่มีความสำคัญมากที่สุดก็คือ หัวใจ เพราะอะไรหรือ? ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะหัวใจเป็นที่มาของแหล่งความคิด ความต้องการ ความรัก ความหลง ความโกรธ ความเกลียด และอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ถ้าหัวใจดี มีความนึกคิดที่ดี ไม่โกรธเกลียด ไม่คิดริษยาผู้หนึ่งผู้ใด ผลออกมาก็คือ จะมีการปฏิบัติออกมาเป็นความดีทั้งหมด
ในทางกลับกัน ถ้าหัวใจไม่ดี คิดแต่เรื่องผิดๆ มีกิเลสตัณหา อิจฉาริษยา โกรธ เกลียด ก็จะแสดงออกมาทางการปฏิบัติที่ไม่ดีเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ สิ่งแรกที่อิสลามเรียกร้องเชิญชวนมนุษย์ให้ตระหนัก คือ เรื่องของหัวใจ นั่นก็คือเรื่องของความเชื่อศรัทธาที่ถูกต้อง หรือที่เรียกกันว่า "อะกีดะฮ์" นั่นเอง อะกีดะฮ์ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในเรื่องของศาสนา ซึ่งผู้ที่ได้ชื่อว่ามุสลิม ต้องมีหลักศรัทธาที่ถูกต้อง
การศรัทธาที่ถูกต้องคือ เราต้องจำนนต่ออัลลอฮ์เพียงผู้เดียว ไม่มีพระเจ้าที่เที่ยงแท้ ที่สมควรจะเคารพกราบไหว้นอกจากอัลลอฮ์ เท่านั้น ไม่งมงายเรื่องไสยศาสตร์ ไม่เชื่อในเรื่องของโชคชะตาราศี มอบชีวิตนี้เพื่ออัลลอฮ์ แต่เพียงผู้เดียว เมื่อมีความเชื่อถูกต้องแล้วจึงต้องปฏิบัติงานต่างๆ เพื่อพระองค์เพียงองค์เดียว ไม่มีการโอ้อวด หรือเพื่อสิ่งอื่น อันจะเป็นการที่จะให้ผลตอบแทน จากการทำงานของเราต้องสูญเปล่า เพราะมีเจตนาอื่นแอบแฝง
ด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์ ต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ที่จะทำให้แต่ละคนมีผลงานออกมาดี หรือไม่ดี ดังคำสอนของท่านเราะซูล ความว่า :
"พึงรู้เถิดว่า ในร่างกายของมนุษย์นั้นมีเนื้อก้อนหนึ่ง เมื่อเนื้อก้อนนั้นดี ร่างกายทั้งหมดก็ไปด้วย ถ้าหากเนื้อก้อนนั้นมันเสีย ร่างกายทั้งหมด็เสียไปด้วย พึงรู้เถิดว่า เนื้อก้อนนั้นก็คือ หัวใจ" (ฮาดิษเกี่ยวกับหัวใจ)
ในภาษาอาหรับคำว่า หัวใจ ใช้คำว่า قلب มีความหมายได้สองนัย ด้วยกัน
นัยแรก หมายความว่า บริสุทธิ์ หรือมีเกียรติที่สุด ที่มีความหมายเช่นนี้ก็เพราะว่า ในร่างกายของมนุษย์อวัยวะที่มีเกียรติที่สุด คือ หัวใจ
นัยสอง หมายความว่า พลิกผันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ที่มีความหมายเช่นนี้เพราะว่า หัวใจของคนเรานั้นมันกลับไปกลับมามีความนึกคิดไม่แน่นอน วันนี้คิดอย่างหนึ่งพรุ่งนี้ก็คิดเป็นอย่างอื่นไปเสียแล้ว
ด้วยเหตุนี้ท่านเราะซูล ใช้ให้เราขอดุอาร์หลังละหมาด ให้หัวใจของเรามั่นคงดังที่มีรายงานว่า ท่านเราะซูล ได้ขอดุอาร์ต่อไปนี้
"โอ้ผู้ทรงทำให้หัวใจเปลี่ยนแปลง ได้โปรดทรงทำให้หัวใจของข้าพระองค์ มั่นคงอยู่กับศาสนาของพระองค์ด้วยเถิด" (ฮาดิษเกี่ยวกับหัวใจ)
ด้วยความกังวล ความสับสน ความเปลี่ยนแปลง รวนเรในหัวใจของมนุษย์นั้น จึงทำให้มนุษย์ไม่สามารถที่จะบังคับใจตนเองไม่ให้คิด ไม่ให้กังวลได้ ต่างกับอวัยะอย่างอื่นที่มนุษย์สามารถบังคับได้ เช่น
ตา เมื่อเราไม่อยากเห็นสิ่งใด เราหลับตาเราก็ไม่เห็นสิ่งนั้นแล้ว
หู เมื่อเราไม่อยากฟังสิ่งที่ไม่ชอบ เราเอามืออุดหู เราก็ไม่สมารถได้ยินสิ่งนั้นแล้ว
แตกต่างกับหัวใจ ซึ่งบางครั้งเราไม่อยากคิด หรือกังวลกับสิ่งนั้น แต่เราไม่สามารถบังคับใจได้ ด้วยเหตุนี้ หัวใจ ที่อ่อนแอ สับสน มักถูกคนยุยงยั่วยวนให้ทำผิด หรือถูกชัยฏอนแทรกแซง บางครั้งเพียงเสี้ยววินาทีอาจทำให้คนๆหนึ่ง กระทำสิ่งที่ไม่คาดคิด หรือทำผิดอันเป็นบาปมหันต์ได้อย่างง่ายดาย
บรรดาแพทย์ส่วนมากมีความเห็นว่า สมอง คือที่มาของความคิด แต่ความเข้าใจที่ได้มาจากตัวบทอัลกุรอาน และฮะดิษ ตำแหน่งของความคิด ความต้องการมาจากหัวใจทั้งสิ้น ดังอายะฮ์ที่ว่า
"พวกเขามิได้เดินทางไปบนผืนแผ่นดินดอกหรือ ? ทั้งนี้เพื่อที่จะทำให้หัวใจพิจารณาพวกเขาเอง" (อัลหัจญ์)
จากอายะฮ์นี้ พระองค์ใช้คำว่า"หัวใจจะได้คิดพิจารณา" ซึ่งสอดคล้องจากคำกล่าวของท่านเราะซูล ชี้ไปที่หน้าอกว่า ตรงนี้แหละคือที่มาของความยำเกรง
"ความยำเกรงอยู่ตรงนี้ ความยำเกรงอยู่ตรงนี้ ความยำเกรงอยู่ตรงนี้ ท่านชี้ไปที่หน้าอกของท่านสามครั้ง"
ซึ่งแตกต่างกับคนทั่วไป คือ เมื่อเขาต้องการแสดงให้เห็นถึงความคิด ความเก่ง หรือความสำเร็จ เขาจะชี้ไปที่ศรีษะ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ตรงนั้นเป็นแหล่งกำเนิดของความคิด ท่านเราะซูล ได้ชี้ยืนยันตรงที่ หัวใจ
หูและดวงตา คือ อวัยวะที่สัมพันธ์กับหัวใจ กล่าวคือ ดวงตา เราใช้มอง เมื่อมองแล้วจะก่อให้เกิดความคิดที่มาจากหัวใจ หูเมื่อเราได้ยินเสียงจากสิ่งรอบข้าง มันจะส่งไปที่หัวใจให้ครุ่นคิดเช่นกัน
ดังนั้น หู ตา หัวใจ เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญกว่าสิ่งอื่นของร่างกาย เพราะมันจะนำไปสู่การศรัทธาที่มั่นคงต่อ อัลลอฮ์ ดังโองการของอัลลอฮ์ ความว่า
"อัลลอฮ์ ผู้ทรงทำให้พวกเจ้า ออกจากครรภ์มารดาของพวกเจ้า โดยพวกเจ้าไม่รู้อะไรเลย แล้วพระองค์ทรงทำให้พวกเจ้าได้ยิน ได้เห็น ได้มีหัวใจ เพื่อจะได้คิดไตร่ตรอง ทั้งนี้เพื่อพวกเจ้าจะได้ขอบคุณ"
อายะฮ์นี้ชี้ให้เห็นว่า หู ตา หัวใจ คืออวัยวะที่มีความสำคัญมากกว่าอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย เพราะถ้าหากมนุษย์ใช้หูฟัง ตา หัวใจวิเคราะห์แล้ว ก็จะนำพาไปสู่การศรัทธาต่ออัลลอฮ์ อย่างแน่นอนในทางกลับกัน ถ้ามนุษย์ไม่ใช้หู ตา หัวใจ ให้เกิดประโยชน์ในการที่จะนำทางไปสู่การศรัทธา ก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์เดียรัจฉานเลย ดังโองการของอัลลอฮ์ ความว่า
"และแน่นอน เราได้บังเกิดสำหรับนรก ญะฮันนัม ซึ่งมากมายจากญิน และมนุษย์ โดยที่พวกเขามีหัวใจ ซึ่งพวกเขาไม่ใช้มันทำความเข้าใจ
พวกเขามีตา ซึ่งเขาไม่ใช้ตาให้เห็นเป็นประโยชน์ พวกเขามีหู ไม่รู้จักใช้หูฟังในสิ่งที่เป็นประโยชน์
บุคคลเหล่านี้ประหนึ่งเช่นเดียรัจฉาน ใช่ต่เท่านั้น พวกเขาหลงผิดยิ่งกว่า ชนเหล่านี้แหละคือ ผู้ที่หลงลืม"
ฉะนั้น อยากกระตุ้นให้ผู้อ่านได้พยายามศึกษา หาความรู้อยู่ตลอดเวลา ด้วยการรู้จักฟัง รู้จักดู รู้จักคิดวิเคราะห์ เพราะจะนำไปสู่ความเข้าใจในศาสนาที่ถูกต้อง และการศรัทธาต่ออัลลอฮ์ที่มั่นคง ก่อให้เกิดความยำเกรง และผู้ที่ยำเกรงคือ ผู้ที่มีวินัยทางศาสนา และเขาคือผู้ที่มีหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยอีหม่านอย่างแท้จริง และเขาผู้นั้นก็จะเป็นผู้สำเร็จ ทั้งในดุนยา และอาคิเราะฮ์ อย่างแน่นอน
บทประพันธ์ของ อ.รอดี ชนะมิตร
ในเรือนกายชายหญิง มีเพียงสิ่งหนึ่งก้อนเนื้อ
ให้เกื้อหนุนจุนเจือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เมตตา
ช่วยสรรค์สร้างทางรอด ม้วยมอดพ้นทัณฑ์หรรษา
นำตนให้พ้นโกรธา ในวันสัญญาตราตรึงใจ
หากชั่วพามัวหมอง คะนองตามใจใฝ่ถึง
ใครยื้อยุดฉุดดึง รำพึงโหยหาอาวรณ์
เนื้อก้อนนี้มีค่า รักษาน้อมนำคำสอน
โปรดจงได้นิวรณ์ สังวรณ์กันไว้ในใจตน
บทความโดย : อ.มุคต๊าร ชนะมิตร
ที่มา: www.islammore.com