สำนึกแห่งศรัทธา คือ การขอบคุณ - อัลกุรอ่าน : islamhouses


1,195 ผู้ชม

ในกระบวนการเรียกร้อง และสร้างสำนึกแห่งศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ที่เราพบในอัลกุรอานนั้น คือการชี้นำ และสะกิดให้มนุษย ์ระลึกถึงบุญคุณ และความกรุณาอันมากมายของพระองค์ ที่มีอยู่เหนือพวกเขา


สำนึกแห่งศรัทธา คือ การขอบคุณ - อัลกุรอ่าน

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

สำนึกแห่งศรัทธา คือการขอบคุณ 
ซุฟอัม อุษมาน

....................................

 

ตั้งแต่บทแรกของอัลกุรอาน และเรื่อยมาตลอดทั้งเล่ม เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน ถึงการสาธยาย ถึงพระเดชานุภาพของอัลลอฮฺ ที่ทรงเสกสรรค์สรรพสิ่งทั้งหลาย เพื่อเป็นคุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์

ไม่เป็นข้อกังขาใดๆ อีกเลยว่า การประทานของอัลลอฮฺ ต่อมนุษย์นั้น มีมากมายเหลือเกิน มีมากมายจนนับไม่ถ้วน ทุกสิ่งที่เราปรารถนา และวาดหวังอยากจะได้ พระองค์ได้ทรงประทานให้ โดยไม่คิดคำนวณ พระองค์เผยถึงข้อเท็จจริงนี้ ว่า

﴿وَآتَاكُم مِّن كُلِّ مَا سَأَلْتُمُوهُ وَإِن تَعُدُّواْ نِعْمَتَ اللهِ لاَ تُحْصُوهَا إِنَّ الإِنسَانَ لَظَلُومٌ كَفَّارٌ﴾ (إبراهيم : 34)

ความว่า และพระองค์ทรงประทานให้พวกเจ้า ซึ่งทุกสิ่งที่พวกเจ้าร้องขอ และมาตรแม้นพวกเจ้า จะนับนิอฺมัตของอัลลอฮฺแล้วไซร้ แน่แท้พวกเจ้า มิอาจนับคำนวณมันได้ แท้จริงมนุษย์นั้น ช่างอธรรม และปฏิเสธฝ่าฝืนเสียเหลือเกิน (อิบรอฮีม : 34)

ในอีกโองการหนึ่งคล้ายๆ กันนี้ พระองค์ได้ตรัสว่า

﴿وَإِن تَعُدُّواْ نِعْمَةَ اللهِ لاَ تُحْصُوهَا إِنَّ اللهَ لَغَفُورٌ رَّحِيمٌ﴾ (النحل : 18)

ความว่า และมาตรแม้นพวกเจ้า จะนับนิอฺมัตของอัลลอฮฺแล้วไซร้ พวกเจ้าย่อมมิอาจคำนวณมันได้ แท้จริงอัลลอฮฺนั้น ทรงเป็นผู้อภัยยิ่ง ผู้เมตตายิ่ง (อัน-นะห์ลฺ : 18)

สองโองการนี้ มีนัยที่กินใจอยู่ท้ายๆ ของอายะฮฺ ที่พระองค์บอกว่า "มนุษย์นั้นช่างอธรรม และฝ่าฝืนเสียเหลือเกิน" เนื่องด้วยที่พวกเขาใช้นิอฺมัตของอัลลอฮฺ ในทางผิดๆ โดยไม่เคยคิดว่าสิ่งเหล่านั้น ถูกประทานมาให้พวกเขา เพื่อใช้ในการภักดีพระองค์ มิใช่ให้นำเอามาเป็นปัจจัยสร้างบาป หรือมะอฺศิยัต ต่อพระองค์เสียเอง กระนั้นก็ตาม พระองค์ก็ยังทรงอภัย และเมตตาเสมอ แม้ว่ามนุษย์จะใช้นิอฺมัตของพระองค์ ในทางที่ผิด แต่ถ้าหากพวกเขาสำนึกได้ และยอมกลับตัว รำลึกถึงบุญคุณของพระองค์อีกครั้ง ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่แปลกอันใดเลย ที่พระองค์จะยอมรับการกลับตัวนั้น เพราะ "แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นผู้อภัยยิ่ง ผู้เมตตายิ่ง" .. อัลลอฮุอักบัร!

นิอฺมัต หรือบุญคุณต่างๆ ที่ทรงประทานให้กับมนุษย์นั้น อย่าว่าแต่สิ่งที่เราร้องขอ เพียงอย่างเดียวเลย สิ่งอื่นนอกเหนือจากที่เราเรียกร้อง ก็ทรงประทานให้มาแต่เดิมแล้ว ทั้งที่เปิดเผย เห็นได้กับตา หรือที่ปกปิด เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ ข้อเท็จจริงนี้ ยิ่งใหญ่นัก ดังที่พระองค์ได้สาธยายว่า

﴿أَلَمْ تَرَوْا أَنَّ اللهَ سَخَّرَ لَكُم مَّا فِي السَّمَاوَاتِ وَمَا فِي الْأَرْضِ وَأَسْبَغَ عَلَيْكُمْ نِعَمَهُ ظَاهِرَةً وَبَاطِنَةً وَمِنَ النَّاسِ مَن يُجَادِلُ فِي اللهِ بِغَيْرِ عِلْمٍ وَلَا هُدًى وَلَا كِتَابٍ مُّنِيرٍ﴾ (لقمان : 20 )

ความว่า เจ้าไม่ได้ดูดอกหรือ ว่า อัลลอฮฺทรงอำนวยสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนฟากฟ้า และสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในแผ่นดิน ให้แก่พวกเจ้า และทรงประทานนิอฺมัตของพระองค์ อย่างกว้างขวาง แก่พวกเจ้า ทั้งที่เปิดเผย และที่ปกปิด ทว่าในจำนวนมนุษย์นั้น ยังมีผู้ที่โต้แย้งในเรื่องอัลลอฮฺ โดยไร้ความรู้ ไร้ทางนำ และไร้คัมภีร์ที่ส่องประทีปใดๆ เลย (ลุกมาน : 20)

อย่างที่ได้เกริ่นไว้แล้วว่า คัมภีร์อัลกุรอานนั้น เพียบพร้อมไปด้วยการยกอ้างถึง เดชานุภาพของอัลลอฮฺ เพื่อเผยให้เห็นถึงบุญคุณอันยิ่งใหญ่ ของพระองค์ ที่มีเหนือปวงมนุษย์ผู้เป็นบ่าว ด้วยสำนวนภาษาที่ง่าย ชัดเจน และสัมผัสถึงอรรถรส แห่งสัจจะ ได้ทันที การเผยโองการเหล่านี้ มักจะเต็มไปด้วยบรรยากาศ แห่งตรรกะ ที่เปี่ยมด้วยเหตุผล และรับได้ด้วยปัญญา มิใช่ด้วยการข่มขู่ หรือบีบคั้นอย่างน่าเกลียด เช่นที่ผู้มีอำนาจในโลกนี้ ทำกับบรรดาผู้อ่อนแอกว่าตน นับประสาอะไรถ้าหากตนเป็นเจ้านาย และอีกฝ่ายเป็นลูกน้องผู้รับใช้

โองการต่อไปนี้ คือ ตัวอย่างพระดำรัส ที่ทรงกล่าวนิอฺมัตของพระองค์ เหนือพวกเรา และมีคำถามที่สื่อถึงมนุษย์ทั้งหลาย ให้ระลึกถึงบุญคุณเหล่านั้น ด้วยทักษะภาษาอันเปี่ยมด้วยพลัง ทว่างดงามเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ผู้สูงส่งตรัสว่า

﴿أَمَّنْ خَلَقَ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضَ وَأَنزَلَ لَكُم مِّنَ السَّمَاءِ مَاء فَأَنبَتْنَا بِهِ حَدَائِقَ ذَاتَ بَهْجَةٍ مَّا كَانَ لَكُمْ أَن تُنبِتُوا شَجَرَهَا أَإِلَهٌ مَّعَ اللهِ بَلْ هُمْ قَوْمٌ يَعْدِلُونَ﴾ (النمل : 60 )

ความว่า (สิ่งเคารพที่พวกเขา ตั้งภาคีด้วยนั้น ดีกว่า) หรือว่าพระองค์ผู้สร้างฟากฟ้าทั้งหลาย และแผ่นดิน และหลั่งน้ำลงมาให้แก่พวกเจ้า จากฟ้า แล้วเราก็ได้ใช้มัน ทำให้เรือกสวนมากมาย งอกเงยเป็นที่ละลานตา ไม่ใช่เรื่องของพวกเขา ที่จะทำให้ต้นพืชเหล่านั้น งอกเงยได้ มีพระเจ้าอื่นใด นอกเหนือไปจากอัลลอฮฺ อีกกระนั้นหรือ? ทว่า พวกเขานั้นเป็นชนที่ตั้งภาคีเทียบเคียง (อัลลอฮฺกับสิ่งเคารพอื่นๆ) (อัน-นัมล์ : 60)

﴿أَمَّن جَعَلَ الْأَرْضَ قَرَاراً وَجَعَلَ خِلَالَهَا أَنْهَاراً وَجَعَلَ لَهَا رَوَاسِيَ وَجَعَلَ بَيْنَ الْبَحْرَيْنِ حَاجِزاً أَإِلَهٌ مَّعَ اللهِ بَلْ أَكْثَرُهُمْ لَا يَعْلَمُونَ﴾ (النمل : 61 )

ความว่า (สิ่งเคารพที่พวกเขาตั้งภาคีด้วยนั้น ดีกว่า) หรือว่าพระองค์ผู้ที่ทำให้แผ่นดินนั้น มั่นคง และทำให้มีสายน้ำไหล ระหว่างแผ่นดินนั้น และทำให้มีภูเขา เป็นที่ยึดตรึงแก่มัน และทำให้มีที่กั้นระหว่างทะเลสองฝ่าย มีพระเจ้าอื่นใด นอกเหนือไปจากอัลลอฮฺ อีกกระนั้นหรือ? ทว่า พวกเขาส่วนมากนั้นไม่รู้ (อัน-นัมล์ : 61)

﴿أَمَّن يُجِيبُ الْمُضْطَرَّ إِذَا دَعَاهُ وَيَكْشِفُ السُّوءَ وَيَجْعَلُكُمْ خُلَفَاء الْأَرْضِ أَإِلَهٌ مَّعَ اللهِ قَلِيلاً مَّا تَذَكَّرُونَ﴾ (النمل : 62 )

ความว่า (สิ่งเคารพที่พวกเขาตั้งภาคีด้วยนั้น ดีกว่า) หรือว่าพระองค์ที่ทรงตอบรับผู้คับขัน เมื่อเขาวอนขอ และทรงปัดเป่าความชั่วร้าย และทรงทำให้พวกเจ้า เป็นผู้ที่ปกครองแผ่นดิน มีพระเจ้าอื่นใด นอกเหนือไปจากอัลลอฮฺ อีกกระนั้นหรือ? น้อยนักที่พวกเจ้าระลึกใคร่ครวญ (อัน-นัมล์ : 62)

﴿أَمَّن يَهْدِيكُمْ فِي ظُلُمَاتِ الْبَرِّ وَالْبَحْرِ وَمَن يُرْسِلُ الرِّيَاحَ بُشْراً بَيْنَ يَدَيْ رَحْمَتِهِ أَإِلَهٌ مَّعَ اللهِ تَعَالَى اللَّهُ عَمَّا يُشْرِكُونَ﴾ (النمل : 63 )

ความว่า (สิ่งเคารพที่พวกเขาตั้งภาคีด้วยนั้น ดีกว่า) หรือว่าพระองค์ผู้ทรงชี้ทางพวกเจ้า ในความมืดมิด ทั้งทางบกและทางทะเล และผู้ที่ทรงปล่อยให้ลมพัด เพื่อสร้างความปีติ ก่อนที่จะส่งความเมตตา ของพระองค์ ให้ (หมายถึงลมที่พัดเมฆมา เพื่อให้หลั่งน้ำฝนลงมา) มีพระเจ้าอื่นใด นอกเหนือไปจากอัลลอฮฺ อีกกระนั้นหรือ? พระองค์อัลลอฮฺทรงสูงส่งยิ่ง เหนือสิ่งที่พวกเขาตั้งภาคี (อัน-นัมล์ : 63)

﴿أَمَّن يَبْدَأُ الْخَلْقَ ثُمَّ يُعِيدُهُ وَمَن يَرْزُقُكُم مِّنَ السَّمَاءِ وَالْأَرْضِ أَإِلَهٌ مَّعَ اللهِ قُلْ هَاتُوا بُرْهَانَكُمْ إِن كُنتُمْ صَادِقِينَ﴾ (النمل : 64 )

ความว่า (สิ่งเคารพที่พวกเขาตั้งภาคีด้วยนั้น ดีกว่า) หรือว่าพระองค์ผู้ที่ให้บังเกิด สรรพสิ่งมาแต่แรก และทรงชุบมันให้เกิดอีกครั้ง (ในวันกิยามะฮฺ หลังจากการสูญสลายของทุกสิ่ง) และผู้ที่ทรงประทานริซกี (ปัจจัยดำรงชีพ) จากฟากฟ้าและแผ่นดิน มีพระเจ้าอื่นใด นอกเหนือไปจากอัลลอฮฺ อีกกระนั้นหรือ? จงนำหลักฐานของพวกเจ้า มาเถิด หากพวกเจ้านั้นสัจจริง (อัน-นัมล์ : 64)

อัลลอฮุอักบัร ! ทั้งหมดที่พระองค์กล่าวถึงนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สัมผัสได้ทั้งสิ้น และเป็นที่ยอมรับโดยดุษฎีว่า มีเพียงอำนาจแห่งองค์ผู้สร้างเท่านั้น ที่สามารถจัดการ และแจกแจงทั้งสิ้นทั้งปวงนั้น ให้แก่มวลมนุษย์ ไม่มีพระเจ้าอื่นใด ที่ควรแก่การเคารพภักดี นอกเหนือไปจากองค์ผู้สร้างนี้เท่านั้น

จะว่ากันไปตามจริงแล้ว นิอฺมัตต่างๆ ทั้งหลาย ที่เราใช้อยู่นี้ แม้จะมีมากมาย จนนับไม่ถ้วน กระนั้นก็ยังถือว่าเล็กน้อยอย่างยิ่ง ถ้าจะเทียบกับความยิ่งใหญ่ของเดชานุภาพ อันไม่สิ้นสุดขององค์อัลลอฮฺ พระผู้อภิบาล เพียงแค่ที่พระองค์ประทานให้มาแค่นี้ เราก็ใช้แทบไม่หมด และเพียงแค่เท่าที่มีอยู่ เราก็ไม่คิดที่จะขอบคุณ หนำซ้ำ ด้วยนิอฺมัตเล็กน้อยเหล่านี้แหล่ะ ที่เราใช้มันก่อความเสียหายมากมาย บนพื้นแผ่นดิน เราสูบน้ำมันและก๊าซในดินมาใช้ แก่งแย่งทรัพยากรธรรมชาติ จนบางครั้งต้องละเมิดสิทธิผู้อื่น เราใช้อำนาจความมั่งมี กดขี่ผู้อ่อนแอ จนไม่เห็นมนุษยธรรม เราใช้ความสะดวกสบาย ที่ได้มาจากนิอฺมัตของอัลลอฮฺ เพื่อความสุขสำราญแห่งตัณหา แม้มันจะขัดกับคุณธรรม ที่พระองค์ทรงรับสั่งใช้ให้ยึดมั่น ฯลฯ เพียงมีนิอฺมัตอันน้อยนิดให้ใช้ มนุษย์ก็อุกอาจต่ออัลลอฮฺมากนักแล้ว ถ้าหากมันมีมากไปกว่านี้เล่า ความหลงลืมของเรา การก่อความเสียหายของเรา จะใหญ่หลวงอีกเพียงใด

บทความที่น่าสนใจ

เรื่องที่น่าสนใจ